by TU GiftedMath 934
การแพทย์แผนดั้งเดิมในอาเซียน
ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม ถึงวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมา ประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพจัด “การประชุมว่าด้วยการแพทย์แผนดั้งเดิมของประเทศในภูมิภาคอาเซียน” | Conference on Traditional Medicine in ASEAN Countries” ที่ Centara Grand Bangkok HOTEL (เซ็นทรัล ลาดพร้าว) เป็นการประชุมที่มีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 10 รัฐสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย เนปาล และศรีลังกา รวมทั้งผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก และผู้แทนสำนักเลขาธิการอาเซียน รวมทั้งสิ้นกว่า 200 คน งานนี้แม้จะไม่เป็นข่าวใหญ่เช่นการประชุมสุดยอดอาเซียน หรืออาจจะไม่เป็นข่าว และไม่มีสำนักข่าวใดจะให้ความสนใจรายงานข่าวนี้เลยก็ตาม ดูจากจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมและประเทศที่เกี่ยวข้องแล้วก็นับว่างานนี้สำคัญมากต่ออัตลักษณ์อาเซียน และวัฒนธรรมประเพณีแต่โบราณของรัฐสมาชิกอาเซียน เพราะเมื่อสำรวจข้อมูลดูแล้ว พบว่า ทุกประเทศในอาเซียนยังยึดมั่นเป็นกระบวนการปฏิบัติในการรักษาพยาบาลด้วยยาสมุนไพรและการแพทย์แผนดั้งเดิม การแพทย์พื้นบ้าน หรือการแพทย์แผนโบราณ ผสมผสานไปกับการแพทย์แผนปัจจุบัน และการที่แต่ละประเทศอยู่ภายใต้อิทธิพลทางวัฒนธรรมของจีนและอินเดีย การแพทย์แผนดั้งเดิมของแต่ละประเทศในอาเซียน ซึ่งมีทั้งสองแบบนี้ปนกันไป กับการแพทย์พื้นบ้านแบบไทย-มาเลย์ ลาว เขมร พม่า ฯลฯ และเป็นที่น่ายินดีที่การแพทย์แผนดั้งเดิมได้รับการพัฒนาและรับรองเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาพยาบาลที่รัฐรับรองมาตรฐานและเป็นส่วนหนึ่งของหลักประกันสุขภาพของหลายประเทศ
ภูมิภาคอาเซียนประกอบด้วยผืนแผ่นดินอันอุดมด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ภูมิประเทศอันกว้างใหญ่ไพศาลเป็นพื้นที่ 3,621,187 ตารางกิโลเมตร บนภาคพื้นทวีป กับอีก 24,000 เกาะในภาคพื้นสมุทร มีผู้คนอยู่อาศัยกัน 575 ล้านคน ในสีสันแห่งวัฒนธรรมประเพณีอันแตกต่างกัน อาเซียนตั้งอยู่ในเขตร้อนแถบเส้นศูนย์สูตร รัฐสมาชิกทั้งสิบจึงเสมือนได้พรจากสวรรค์ให้มั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ด้วยสรรพชีวภาพ และเหล่าบรรพบุรุษก็ได้สั่งสมประสบการณ์ในการใช้ประโยชน์ทางยาจากทั้งพืชและสัตว์ ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆมาแต่อดีตกาล ผสมผสานกับความเชื่อทางลัทธิศาสนาที่หลากหลาย วัฒนธรรมท้องถิ่นที่มากแผ่กระจายไปทั่วถึงตำบลหมู่บ้านต่างๆ อิทธิพลวัฒนธรรมสำคัญในเอเชีย จากอินเดีย และ จากจีน แผ่เข้ามาในภูมิภาคก่อกำเนิดเป็นการแพทย์แผนดั้งเดิม ตามแบบแผนประเพณีโบราณ ส่งต่อเนื่องผ่านคนรุ่นต่างๆ จนปัจจุบัน
ในแถบลุ่มน้ำโขง พุทธศาสนาเป็นศาสนาหลัก การแพทย์ดั้งเดิมในพม่า ไทย ลาว และกัมพูชา จึงได้รับอิทธิพลส่วนหนึ่งจากความเชื่อในศาสนาพุทธ การแพทย์แผนดั้งเดิมจึงเป็นที่ยึดถือปฏิบัติกันมานานหลายพันปี
ทัศนา-นายา เป็น 1 ใน 4 หลักการแพทย์แผนดั้งเดิมของพม่า บนพื้นฐานของหลักศาสนาพุทธ และกระบวนการธรรมชาติบำบัดต่างๆ ที่ใช้ในการรักษาโรคภัยที่เกี่ยวข้องการโภชนาหาร การแพทย์ดั้งเดิมของพม่าได้รับการบูรณาการเข้าสู่ระบบบริการสาธารณสุขในยุคปัจจุบันแล้ว จึงพบเห็นได้ทั้งในโรงพยาบาลเขตเมือง และในระดับหมู่บ้าน มหาวิทยาลัยการแพทย์แผนดั้งเดิมที่มัณฑะเลย์ ก็เพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2544 นี้
การแพทย์แผนไทย ก็มีพื้นฐานมาจากศาสนาพุทธ โดยมีวัดเป็นแหล่งความรู้ วัดที่มีชื่อเสียงเช่นวัดโพธิ์ วัดราชโอรสารามเป็นสถาบันสำคัญที่ช่วยอนุรักษ์และเผยแพร่การแพทย์แผนไทยดั้งเดิมมาตลอดเวลาแห่งประวัติศาสตร์ การนวดแบบไทย อบสมุนไพร และการใช้พืชสมุนไพรรวมทั้งการแพทย์แผนไทยหลากหลายรูปแบและวิธีการ ปัจจุบันได้รับการรับรองอยู่ในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติด้วย โรงพยาบาลแพทย์แผนไทยแห่งแรก คือ “สถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย และ อาโรคยาศาลา” จะเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2553
สำหรับลาว ก็คล้ายกับในประเทศไทย ที่ได้เลือกยาจากสมุนไพรเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติ และมีการส่งเสริมการใช้สมุนไพรบางชนิดในการสาธารณสุขมูลฐาน เช่น บอระเพ็ด ขิง ฝรั่ง มะระขี้นก บัวบก และ มะขามป้อม คำสั่งนายกรัฐมนตรีในปี 2546 ให้ส่งเสริมการใช้และการอนุรักษ์แหล่งทรัพยากรยาจากธรรมชาติ ทำให้เกิดการจัดตั้งแหล่งอนุรักษ์พืชสมุนไพรขึ้น ศูนย์วิจัยการแพทย์ดั้งเดิมของประเทศลาวเป็นสถาบันภายใต้กระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบงานด้านการศึกษา การใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพร และ การแพทย์แผนดั้งเดิมของลาว ซึ่งมีพืชสมุนไพรมากถึง 1,500 ชนิด ที่บันทึกไว้ในฐานข้อมูลพืชสมุนไพรของประเทศลาว
ในกัมพูชา มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่าการแพทย์แผนดั้งเดิมมีมาก่อนสมัยนครวัต
ในปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการแพทย์แผนกัมพูชาควบคู่กันไปกับการแพทย์แผนปัจจุบัน มีการก่อตั้งโรงเรียนและสร้างหลักสูตรการอบรมการแพทย์ดั้งเดิมระยะ 6 เดือน สำหรับผู้เป็นแพทย์แผนดั้งเดิม งานค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการอนุรักษ์วิธีการรักษาพยาบาลโดยการแพทย์ดั้งเดิมให้ยั่งยืน เป็นงานสำคัญของศูนย์การแพทย์ดั้งเดิมแห่งชาติของกัมพูชา ที่ก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กร
ที่แตกต่างไปจากประเทศอื่นๆในลุ่มน้ำโขงคือเวียดนาม ซึ่งองค์การอนามัยโลกยกย่องว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงในการผสมผสานการแพทย์แผนดั้งเดิมเข้ากับแผนปัจจุบัน การแพทย์แผนดั้งเดิมของเวียดนามเป็นการแพทย์แผนตะวันออกที่เป็นส่วนสำคัญในระบบสาธารณสุขมูลฐานของประเทศ ซึ่งการให้บริการการแพทย์ดั้งเดิมนี้ พบได้ทั้งในโรงพยาบาลแผนปัจจุบัน และโรงพยาบาลการแพทย์แบบดั้งเดิม ตลอดไปจนถึงสถานีอนามัยระดับชุมชน หรือคอมมูน
ลงมาทางหมู่เกาะมาเลย์ หากไม่นับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์แล้ว ระบบการแพทย์ดั้งเดิมใน บรูไน มาเลเซีย และสิงคโปร์ จะคล้ายคลึงกันด้วยเหตุที่ว่าเผ่าพันธุ์ของผู้คนพลเมืองที่อยู่ผสมผสานกันทั่ว คล้ายคลึงกัน การแพทย์ดั้งเดิมจึงมีทั้งแบบ มาเลย์ จีน และอายุรเวทแบบอินเดีย
มาเลเซียประกาศนโยบายแห่งชาติว่าด้วยการแพทย์แผนดั้งเดิมและการแพทย์เสริม ในปี พ.ศ. 2544 และตั้งกองการแพทย์แผนดั้งเดิมและการแพทย์เสริมในปี 2547 ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข โดยมีนโยบายเป็นวิสัยทัศน์ว่าจะบูรณาการการแพทย์ดังกล่าวให้เข้าสู่ระบบบริการสาธารณสุขด้วย ต่อมาก็มีโรงพยาบาลจำนวนเพิ่มมากขึ้นที่มีบริการการแพทย์แบบดั้งเดิม จากแห่งเดียวในปี 2550 เป็น 3 แห่งในปี 2552 มีการพิมพ์คู่มือปฏิบัติงานมาตรฐานสำหรับหน่วยบริการการแพทย์ดั้งเดิมและการแพทย์เสริม คู่มือปฏิบัติงานมาตรฐานสำหรับการฝังเข็ม และการนวดแบบมาเลย์
การแพทย์แผนจีนเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางในสิงคโปร์ กระทรวงสาธารณสุขจึงมีระบบกำกับดูแลและพัฒนาการรักษาพยาบาลด้วยการแพทย์แผนจีนโดยทำเป็นขั้นตอน ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนจีน ตลอดจนการกำหนดมาตรฐานหลักสูตรการฝึกอบรมการแพทย์แผนจีน
ชุมชนท้องถิ่นบรูไนใช้การแพทย์แผนดั้งเดิมมานานตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14 และถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ หมอ หรือผู้ให้บริการทางการแพทย์แผนดั้งเดิมมีหลากหลาย มีทั้งหมอสมุนไพรมาเลย์, ซินแสหมอจีน และหมออายุรเวทอินเดียตลอดถึงการรักษาแบบโยคะ การรักษาด้วยพิธีกรรมทางศาสนา และจิตวิญญาณ เป็นบริการสาธารณสุขพื้นฐานร่วมสมัยกับการแพทย์แผนปัจจุบัน
การแพทย์แผนดั้งเดิมในอินโดนีเซียย้อนไปได้ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 โดยทั่วไป ยาแผนดั้งเดิม หรือยาจากสมุนไพรของอินโดนีเซียเรียกในภาษาชวาว่า “จามู” เป็นรูปแบบการผลิตและการใช้ยาพื้นบ้านของชาวอินโดนีเซียที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน เป็นแบบแผนประเพณีของการสร้างเสริมสุขภาพ รักษาสุขภาพ และ รักษาพยาบาลโรคภัยไข้เจ็บ
ด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนายาจากสมุนไพรโดยกระทรวงสาธารณสุขของอินโดนีเซีย
“จามู” เป็นยาจากสมุนไพรหนึ่งในสามประเภท ซึ่งพัฒนาจากประสบการณ์การใช้ตามศาสตร์การแพทย์ดั้งเดิมและการสังเกตเป็นพื้นฐาน
อีกประเภทหนึ่งเป็นยาจากสารสกัดสมุนไพร ที่มีหลักฐานการวิจัยในสัตว์ทดลอง
ส่วนชนิดที่ 3 เป็นยาจากสารสกัดสมุนไพรที่ทราบปริมาณสารสำคัญและผ่านการวิจัยในคนมาแล้ว
สำหรับฟิลิปปินส์ สถาบันการแพทย์แผนดั้งเดิมและการแพทย์ทางเลือก ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการแพทย์แผนดั้งเดิมและการแพทย์ทางเลือก โดยมีอาณัติให้เร่งพัฒนาการแพทย์แผนดั้งเดิมและการแพทย์ทางเลือกโดยเร็ว กระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์รับรองการประกอบวิชาชีพด้วยการแพทย์แผนจีน และร่วมมือกับรัฐบาลจีนในการฝึกอบรมด้านการฝังเข็ม และการนวดแบบโบราณของจีนแบบทุยนา (Tuina)
การแพทย์ตามแบบแผนประเพณีดั้งเดิมของประเทศในภูมิภาคอาเซียนยังคงต้องการการพัฒนาเพื่อให้เจริญก้าวหน้าเคียงบ่าเคียงไหล่กับการแพทย์แผนปัจจุบัน ในระบบสาธารณสุข เป็นความทันยุคสมัยของขนบประเพณีดั้งเดิม แบบแผนประเพณีอันถือได้ว่าเป็นวิทยาศาสตร์การแพทย์แผนโบราณที่ยังทันสมัย ไม่เสื่อมคลาย
การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งแรกในกรอบการประชุมของอาเซียน เป็นการเริ่มต้นที่ดีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้และทำความรู้จักกันในบรรดาแพทย์และผู้ปฏิบัติวิชาชีพการแพทย์แผนโบราณและการแพทย์ทางเลือก ที่สถาบันการแพทย์แผนไทย ของกระทรวงสาธารณสุข เป็นแม่งาน จัดการประชุมให้ผ่านไปสำเร็จลุล่วงโดยดี โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักเลขาธิการอาเซียน, กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยมูลนิธิ NIPPON และ กองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย.